ผลของโปรแกรมการพยาบาลแบบตั้งเป้าหมายร่วมกันต่อการปฏิบัติตามแผนการรักษาของผู้ป่วยวัณโรคปอด หอผู้ป่วยในโรงพยาบาลสุโขทัย

ผู้แต่ง

  • ทัศนีย์ แสงเงิน

คำสำคัญ:

โปรแกรมการพยาบาล, ตั้งเป้าหมายร่วมกัน, การปฏิบัติตามแผนการรักษา, ผู้ป่วยวัณโรคปอด, หอผู้ป่วยใน

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรมการพยาบาลแบบตั้งเป้าหมายร่วมกันต่อการปฏิบัติตามแผนการรักษาของผู้ป่วยวัณโรคปอดหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลสุโขทัย การศึกษาขั้นตอนที่ 1 วิเคราะห์การปฏิบัติตามแผนการรักษาของผู้ป่วยวัณโรคปอด กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยวัณโรคปอดหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลสุโขทัย จำนวน 7 คน ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุด ต่ำสุด พบว่า เพศชายร้อยละ 57.10  อายุเฉลี่ย 66.57 ปี (S.D.=25.38) ร้อยละ 42.90 มีความรู้ในระดับต่ำ ร้อยละ 74.10 มีการปฏิบัติตามแผนการรักษาในระดับต่ำ ขั้นตอนที่ 2 พัฒนาโปรแกรมการพยาบาลแบบตั้งเป้าหมายร่วมกันต่อการปฏิบัติตามแผนการรักษาของผู้ป่วยวัณโรคปอด ประกอบด้วยการศึกษาความต้องการและข้อเสนอแนะของผู้ป่วยวัณโรคปอดและการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาของโปรแกรมโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่าโปรแกรมประกอบด้วย 8 กิจกรรม 1) กิจกรรมการมีปฏิสัมพันธ์แบบมีเป้าหมาย 2) กิจกรรมการประเมินผู้ป่วย 3) กิจกรรมการเพิ่มทักษะ 4) กิจกรรมการกำหนดปัญหาร่วมกัน 5) กิจกรรมการแสวงหาและเลือกวิธีปฏิบัติร่วมกัน 6) กิจกรรมการวางแผนและตั้งเป้าหมายร่วมกัน 7) กิจกรรมการปฏิบัติตามวิธีที่เลือกไว้ 8) กิจกรรมการประเมินผล และ พบว่า ความตรงเชิงเนื้อหา (IOC) มีค่าระหว่าง 0.5-1 ขั้นตอนที่ 3 ทดสอบประสิทธิผลของโปรแกรม โดยทดลองใช้กับผู้ป่วยวัณโรคปอดหอผู้ป่วยในโรงพยาบาลสุโขทัย จำนวน 24 คน พบว่า ภายหลังการทดลองคะแนนความรู้และการปฏิบัติตามแผนการรักษาสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

31-03-2024