สารสกัดพรอพอลิสไทยต่อการต้านการอักเสบในเซลล์เนื้อเยื่อในของฟันมนุษย์

Authors

  • จิตรานุช คำทวี สาขาวิชาทันตกรรมบูรณะ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ธีระศักดิ์ ดำรงรุ่งเรือง แขนงวิชาวินิจฉัยโรคในช่องปาก สาขาวิชาชีวเวชศาสตร์ช่องปาก คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • สุบิน พัวศิริ แขนงวิชาทันตกรรมชุมชน สาขาวิชาทันตกรรมป้องกัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ณัฐพงษ์ กันตรง สาขาวิชาทันตกรรมบูรณะ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  • ปัทมา ชัยเลิศวณิชกุล สาขาวิชาทันตกรรมบูรณะ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Abstract

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของสารสกัดพรอพอลิสไทยต่อกลไกต้านอักเสบต่างๆ ในเซลล์เนื้อเยื่อในของฟันมนุษย์ที่ถูกกระตุ้นให้อักเสบในห้องปฏิบัติการ โดยเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในจากฟันกรามแท้ของมนุษย์ซี่ที่สาม และกระตุ้นให้อักเสบด้วยอินเตอร์ลิวคิน 1 เบต้าที่ระยะเวลา 24 ชั่วโมง แล้วเติมสารสกัดพรอพอลิสไทยความเข้มข้นที่ไม่เป็นพิษต่อเซลล์ คือ 1.2500, 0.6250, 0.3125, 0.1563 และ 0.0781 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ทดสอบที่ระยะเวลา 48 ชั่วโมง กลุ่มควบคุมมาตรฐานเป็นเซลล์เนื้อเยื่อในที่ไม่ถูกกระตุ้น กลุ่มควบคุมลบเป็นเซลล์เนื้อเยื่อในที่ถูกกระตุ้นให้อักเสบ และกลุ่มควบคุมบวกเป็นเซลล์เนื้อเยื่อในที่ถูกกระตุ้นให้อักเสบแล้วเติมยาต้านอักเสบอินโดเมทาซิน เปรียบเทียบการแสดงออกของอาร์เอ็นเอนำรหัสไซโคลออกซีจีเนส 2 พบว่า กลุ่มที่ใส่สารสกัดพรอพอลิสไทยความเข้มข้น 1.2500 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มีการแสดงออกของอาร์เอ็นเอนำรหัสไซโคลออกซีจีเนส 2 สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (T test, p=0.006) ขณะที่กลุ่มใส่สารสกัดพรอพอลิสไทยความเข้มข้น 0.6250, 0.3125, 0.1563 และ 0.0781 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มีการแสดงออกของอาร์เอ็นเอนำรหัสไซโคลออกซีจีเนส 2 ลดลงใกล้เคียงกลุ่มควบคุมมาตรฐานและกลุ่มควบคุมบวก และแตกต่างจากกลุ่มควบคุมลบอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (Kruskal Wallis, p>0.05) เมื่อเปรียบเทียบการแสดงออกของโปรตีนไซโคลออกซีจีเนส 2 พบว่า กลุ่มที่ใส่สารสกัดพรอพอลิสไทยความเข้มข้น 0.1563 และ 0.0781 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร มีการแสดงออกของโปรตีนไซโคลออกซีจีเนส 2 ลดลงใกล้เคียงกลุ่มควบคุมมาตรฐานและกลุ่มควบคุมบวก และแตกต่างจากกลุ่มควบคุมลบอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (Kruskal Wallis, p>0.05) และ เมื่อเปรียบเทียบการแสดงออกของพรอสตาแกลนดินอีทู พบว่า สารสกัดพรอพอลิสไทยความเข้มข้น 1.2500, 0.6250, 0.3125, 0.1563 และ 0.0781 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ลดการสร้างพรอสตาแกลนดินอีทูอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (One way ANOVA, p<0.0001) สรุปว่าสารสกัดพรอพอลิสไทยที่ความเข้มข้นต่ำสามารถต้านการอักเสบในเซลล์เนื้อเยื่อในของฟันมนุษย์ที่ถูกกระตุ้นให้อักเสบได้ เหมาะนำมาพัฒนาเป็นวัสดุปิดทับเนื้อเยื่อในเพื่อลดการอักเสบได้

Downloads

Published

2022-06-18

Issue

Section

Miscellaneous