ปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาตนเองในการปฏิบัติตามค่านิยม MOPH ของข้าราชการในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม
คำสำคัญ:
การปฏิบัติตามค่านิยม MOPH, การพัฒนาตนเอง, แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์, บรรยากาศองค์กรบทคัดย่อ
การวิจัยเชิงพรรณนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับความต้องการพัฒนาตนเองในการปฏิบัติตามค่านิยม MOPH และปัจจัยที่ส่งผลต่อความต้องการพัฒนาตนเองในการปฏิบัติตามค่านิยม MOPH โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลจากข้าราชการในสังกัดสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม จำนวน 371 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุด และค่าต่ำสุด ทดสอบตัวแปรตามระหว่างการปฏิบัติตามค่านิยม MOPH ในปัจจุบัน และความต้องการพัฒนาตนเองในการปฏิบัติตามค่านิยม MOPH โดยใช้ Paired – Sample T Test วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต้นและตัวแปรตามโดยใช้การทดสอบสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation Coefficient) วิเคราะห์ความสัมพันธ์เชิงเหตุผลระหว่างตัวแปรต้น และตัวแปรตามเพื่อทำนายความผันแปร โดยใช้สมการถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน (Stepwise Multiple Regression Analysis) กำหนดความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ปฏิบัติตามค่านิยม MOPH ในปัจจุบันอยู่ในระดับมาก ร้อยละ 75.5 มีคะแนนเฉลี่ย 142.47 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 15.98 และมีความต้องการพัฒนาตนเองในการปฏิบัติตามค่านิยม MOPH อยู่ในระดับมาก ร้อยละ 75.2 มีคะแนนเฉลี่ย 146.67 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 25.83 จากการเปรียบเทียบพบว่าคะแนนเฉลี่ยของความต้องการพัฒนาตนเองในการปฏิบัติตามค่านิยม MOPH มากกว่าคะแนนเฉลี่ยของการปฏิบัติตามค่านิยม MOPH ในปัจจุบัน ตัวแปรอิสระที่ส่งผลต่อความต้องการพัฒนาตนเองในการปฏิบัติตามค่านิยม MOPH ของกลุ่มตัวอย่าง มีจำนวน 6 ตัวแปร เรียงลำดับความสัมพันธ์จากมากไปน้อยดังนี้ 1) แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ 2) ความพึงพอใจต่อบรรยากาศองค์กร 3) ทัศนคติต่อค่านิยม MOPH 4) ความรู้เกี่ยวกับค่านิยม MOPH 5) ลักษณะงานที่ปฏิบัติ และ 6) ระดับตำแหน่ง (Beta = .668, .269, .241, .207, -.081 และ .077 ตามลำดับ) ตัวแปรอิสระทั้ง 6 ตัวแปรสามารถอธิบายความผันแปรของความต้องการพัฒนาตนเองในการปฏิบัติตามค่านิยม MOPH ในภาพรวม ได้ร้อยละ 51.2 (R2 = .512)