ปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในวัยรุ่นหญิง จังหวัดนครพนม
คำสำคัญ:
วัยรุ่นหญิง, การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์, ปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในวัยรุ่นหญิง จังหวัดนครพนม กลุ่มตัวอย่างคือ วัยรุ่นหญิงในเขตจังหวัดนครพนม จำนวน 3,698 คน แบ่งออกเป็น กลุ่มที่เคยตั้งครรภ์ จำนวน 1,432 คน และไม่ได้ตั้งครรภ์ จำนวน 2,266 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นหญิง ที่ยินดีเข้าร่วมการวิจัย ศึกษาในระหว่างเดือน เมษายน ถึง สิงหาคม 2561 ใช้ระยะเวลารวม 5 เดือน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย เปรียบเทียบหาความสัมพันธ์และขนาดระหว่างตัวแปรด้านประชากร ทดสอบสอบความแตกต่างของสัดส่วนด้วยสถิติไคสแควร์ (Chi square test) กำหนดนัยสำคัญทางสถิติที่ P<0.05 คำนวณค่าอัตราส่วนของเหตุการณ์ที่สนใจ (Prevalence ratios) ค่าช่วงความเชื่อมั่น 95% (95% confidence intervals) ใช้ log binomial regression นอกจากนั้น คัดเลือกปัจจัยที่มีนัยสำคัญสถิติจากการทดสอบหาความสัมพันธ์กับการป้องกันการตั้งครรภ์ (bivariate analysis) เข้าไปในสมการสุดท้ายสำหรับการคำนวณแบบพหุคูณ (adjusted multivariate model)
ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นหญิง เมื่อทำการเปรียบเทียบปัจจัยด้านส่วนบุคคล ปัจจัยด้าน ความรู้และทัศนะคติ ควบคุมลักษณะต่างๆ ให้เท่ากัน พบ ว่า ตัวแปรที่มีผลทำนายต่อการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ มีอยู่ สามตัวแปร คือ หญิงวัยรุ่นที่ไม่ได้พักอาศัยอยู่กับพ่อแม่มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์มากกว่า 1.53 เท่า (95% CI 1.12-2.08) วัยรุ่นหญิงที่มีทัศนะคติเชิงบวกในประเด็นการมีเพศสัมพันธ์และการป้องกันการตั้งครรภ์ในระดับน้อย จะมีโอกาสในการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์มากกว่า 1.33 เท่า (95% CI 1.08-1.64) และหญิงวัยรุ่นที่คิดว่า การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีความรุนแรงในระดับน้อย มีโอกาสตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์มากกว่า 1.62 เท่า (95% CI 1.29-2.03)