การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีภาวะเสี่ยงสูง

ผู้แต่ง

  • กัญญาวีญ์ ต้นสวรรค์
  • อุษนีย์ รามฤทธิ์

คำสำคัญ:

ความรอบรู้ด้านสุขภาพ, โรคหลอดเลือดสมอง, ความดันโลหิตสูง

บทคัดย่อ

     การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมการป้องกันโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีภาวะเสี่ยงสูง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่มีความดันโลหิตตัวบน ≥ 180 มิลลิเมตรปรอท หรือความดันโลหิตตัวล่าง  ≥ 110 มิลลิเมตรปรอท มารับบริการตรวจรักษาที่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินและ/หรือผู้ป่วยนอก จำนวน 40 คน เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาคือ แนวคิดความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพ โดยมีการดำเนินงาน 3 กระบวนการ ดังนี้ 1) กระบวนการสังเกตตัวเอง 2) กระบวนการตัดสินใจ 3) กระบวนการแสดงปฏิกิริยาต่อตนเอง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล แบบประเมินความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมองและแบบสอบถามพฤติกรรมสุขภาพการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการด้านอารมณ์ การสูบบุหรี่และการดื่มสุรา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

     ผลการศึกษาพบว่าหลังเข้าร่วมกิจกรรม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง ตอบถูกร้อยละ 90 ขึ้นไป คะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมการดูแลตนเองด้านการบริโภคอาหาร การออกกำลังกายอยู่ในระดับน้อย (Mean=2.43, 2.12) การจัดการด้านอารมณ์อยู่ในระดับปานกลาง (Mean=2.91) การสูบบุหรี่และการดื่มสุราอยู่ในระดับมากที่สุด (Mean=4.41) ผลการวัดความดันโลหิตที่บ้านด้วยตนเอง 7 วัน ระดับความดันโลหิตตัวบน มีค่าเฉลี่ย (Mean)=142 และระดับความดันโลหิตตัวล่าง มีค่าเฉลี่ย (Mean) = 85

     การส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้และนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพด้านการรับประทานอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ดื่มสุราและไม่สูบบุหรี่ เพื่อลดภาวะเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-04-30