ตัวแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการดำเนินงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬ ในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)

ผู้แต่ง

  • กฤษณพงษ์ ชุมพล -
  • ไพศาล ไกรรัตน์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ
  • สิริรัตน์ รัตนานุพงศ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ

คำสำคัญ:

ตัวแบบ, คณะกรรมการโรคติดต่อ, การบริหารจัดการ

บทคัดย่อ

     การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและสร้างตัวแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการดำเนินงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬ ในการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างตัวแบบที่สร้างขึ้นกับข้อมูลเชิงปริมาณรวมถึงการนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาการดำเนินงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬ การวิจัยแบ่งออก เป็น 4 ขั้นตอน คือขั้นตอนที่ 1 ศึกษาบริบทการดำเนินงานบริหารสถานการณ์โรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จ ในการบริหารจัดการโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา วิเคราะห์เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนที่ 2 การสร้างตัวแบบเชิงสมมติฐาน ของความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการดำเนินงานของคณะกรรมการโรคติดต่อ ขั้นตอนที่ 3 ตรวจสอบความสอดคล้องระหว่างตัวแบบที่สร้างขึ้นกับข้อมูลเชิงปริมาณ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณด้วยการวิเคราะห์ความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้นโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ขั้นตอนที่ 4 การให้ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ เชิงนโยบายของผู้เชี่ยวชาญ กลุ่มตัวอย่าง ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด อำเภอ และตำบล และผู้ปฏิบัติงานด้านการควบคุมป้องกันโรค กลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการสุ่มอย่างง่าย จำนวน 370 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปเพื่อหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Pearson’s Product Moment Correlation Coefficient) และการวิเคราะห์ความสัมพันธ์โครงสร้างเชิงเส้นด้วยโปรแกรม คอมพิวเตอร์สำเร็จรูป

     ผลการวิจัยพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินงานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬ ประกอบด้วย ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง สมรรถนะบุคลากร การบูรณาการทำงาน การมีส่วนร่วม และประสิทธิผลการดำเนินงาน และผลจากการตรวจสอบความสอดคล้องของตัวแบบกับข้อมูลเชิงปริมาณ พบว่า ตัวแบบความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการดำเนินงานของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬ มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงปริมาณ สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ในการพัฒนาการดำเนินงานของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดบึงกาฬ พบว่าควรเสริมสร้างแนวคิด หลักการ และวิธีการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ รวมถึงการสร้างจิตสำนึก การสร้างวิสัยทัศน์ การวางแผน การทำงานเป็นทีม การใช้เครื่องมือทางการจัดการ การสื่อสารที่มีประสิทธิผล และการมีความสัมพันธ์ ที่ดีระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติ เป็นต้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-08-31