การพัฒนาและศึกษาประสิทธิผลแนวทางปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี
คำสำคัญ:
แนวปฏิบัติการพยาบาล, ผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว, ความพึงพอใจบทคัดย่อ
การวิจัยและพัฒนา (Research and development) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและประเมินประสิทธิผลแนวทางปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวในโรงพยาบาลชุมชน อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ทำการศึกษาระหว่างเดือนตุลาคม 2565- กันยายน 2566 การพัฒนาแนวปฏิบัติแบ่งเป็น 4 ระยะคือ สร้างแนวปฏิบัติ ตรวจสอบคุณสมบัติแนวปฏิบัติ ศึกษาประสิทธิผลของแนวปฏิบัติ และปรับปรุงเผยแพร่ กลุ่มตัวอย่างคือ 1) ผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวในชุมชนอำเภอแม่ลาน จำนวน 30 คน 2) พยาบาลผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลแม่ลานและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขตอำเภอแม่ลานที่ให้การดูแลผู้ป่วยจิตเภท คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 10 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองคือแนวทางปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวเป็นเวลา 1 เดือน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยแบบประเมินพฤติกรรมก้าวร้าวของผู้ป่วยจิตเภท และแบบประเมินความพึงพอใจของพยาบาลในการใช้แนวปฏิบัติ ตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 ท่าน CVI=.99, และ 1.00 ตามลำดับ ค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่น = .83, .86 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบ paired t-test
ผลการวิจัย พบว่า แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยจิตเภทที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว มี 6 องค์ประกอบ คือ การพิทักษ์สิทธิผู้ป่วย การประเมิน การให้การพยาบาลผู้ป่วย การส่งต่อผู้ป่วย การให้ความรู้ คำแนะนำแก่ผู้ป่วยและผู้ดูแลและการบันทึกข้อมูลในแฟ้มประวัติอย่างเป็นระบบ ประสิทธิผลของแนวปฏิบัติ พบว่าสามารถลดพฤติกรรมก้าวร้าวของผู้ป่วยได้ดี โดยคะแนนพฤติกรรมก้าวร้าวหลังทดลอง( =0.80, S.D.=.847) ต่ำกว่าก่อนการทดลอง ( =10.53, S.D.=3.350) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) t=15.953 (df=29) พยาบาลผู้ใช้มีความพึงพอใจต่อการใช้แนวปฏิบัติในระดับมาก ( =2.70, S.D.=.214) สามารถประเมินและดูแลผู้ป่วยอย่างมีรูปแบบเป็นแนวทางเดียวกัน เกิดผลลัพธ์การดูแลที่ดี ควรนำไปใช้ในโรงพยาบาลชุมชนอย่างต่อเนื่อง