การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการบริโภคข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 บริเวณรอบแหล่งฝังกลบมูลฝอยเทศบาล

ผู้แต่ง

  • สมศักดิ์ อินทมาต -

คำสำคัญ:

การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ, โลหะหนัก, แหล่งฝังกลบมูลฝอยเทศบาล

บทคัดย่อ

     การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการบริโภคข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 ที่ปนเปื้อนโลหะหนัก (สารหนู โครเมียม แคดเมียม ตะกั่ว นิกเกิล สังกะสี แมงกานีสและทองแดง) บริเวณรอบแหล่งฝังกลบมูลฝอยเทศบาลนครขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น และศึกษาปริมาณการปนเปื้อนของโลหะหนักในตัวอย่างน้ำ ดิน และเมล็ดข้าว กข 6  วิเคราะห์ปริมาณโลหะหนักในเมล็ดข้าวด้วยเครื่อง inductively coupled plasma optical emission spectrometry (ICP-OES) ทำการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการบริโภคข้าวที่มีการปนเปื้อนโลหะหนักจากค่า hazard quotient (HQ) ผลการศึกษาพบว่า โลหะหนักทุกชนิดมีค่าเกินมาตรฐานคุณภาพแหล่งน้ำโดยสังกะสีมีค่าสูงสุด 202.22±60.53 มก./ล. การปนเปื้อนปริมาณโลหะหนักในตัวอย่างตะกอนดิน พบว่าสารหนู และโครเมียมมีค่าเกินมาตรฐานคุณภาพดิน ส่วนโลหะหนักชนิดอื่นมีค่าไม่เกินมาตรฐานโดยสังกะสีมีค่าสูงสุด 2,092±48.56 มก./กก. โลหะหนักที่สะสมในเมล็ดข้าวมีค่าเกินมาตรฐานทุกชนิด ยกเว้นทองแดงโดยแมงกานีสมีค่าสูงสุด 533.99±68.56 มก./กก. การประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพจากการบริโภคข้าว กข 6 ที่มีการปนเปื้อนโลหะหนักพบว่า โลหะหนักทุกชนิดค่า HQ เกิน 1 ยกเว้นโครเมียม โดยสารหนูมีค่า HQ สูงสุด 64.31 ส่วนโครเมียมมีค่า HQ ต่ำสุด 0.09 การปนเปื้อนโลหะหนักจากสถานที่ฝังกลบมูลฝอยทั่วไปของเทศบาลนครขอนแก่นเกิดจากการจัดการน้ำชะขยะที่ไม่ถูกต้อง มีการปล่อยน้ำชะขยะลงสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่ผ่านการบำบัดส่งผลให้เกิดการสะสมของโลหะหนักในข้าว เมื่อประชาชนในพื้นที่บริโภคข้าวที่ปนเปื้อนโลหะหนักจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและระบบนิเวศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-08-31