การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด โรงพยาบาลปลาปาก จังหวัดนครพนม
คำสำคัญ:
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด, ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด, รูปแบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ, ผลลัพธ์ของการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดบทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) พัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ในกระแสเลือด โรงพยาบาลปลาปาก จังหวัดนครพนม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและศึกษาผลของการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด โรงพยาบาลปลาปาก จังหวัดนครพนม ทำการศึกษาในระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม 2566 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ 1. ทีมสุขภาพ ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาลวิชาชีพ นักเทคนิคการแพทย์ นักรังสีวิทยา เภสัชกร นักโภชนากร จำนวน 20 คน 2) ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดที่มารับบริการที่โรงพยาบาลปลาปาก จังหวัดนครพนม จำนวน 30 คน เปรียบเทียบก่อนและหลัง เครื่องมือที่ใช้ ในการวิจัยประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบประเมินความพึงพอใจและแบบประเมินความเป็นไปได้ของการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด โรงพยาบาลปลาปาก จังหวัดนครพนม เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ รูปแบบและคู่มือการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด การดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด โรงพยาบาลปลาปาก จังหวัดนครพนม การวิเคราะห์ข้อมูล โดยการใช้สถิติเชิงพรรณนาหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และวิเคราะห์เปรียบเทียบคะแนน ความพึงพอใจก่อนและหลังการพัฒนาด้วยสถิติ Pair t-test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05
ผลการศึกษาพบว่า 1) รูปแบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด โรงพยาบาลปลาปาก จังหวัดนครพนม ประกอบด้วย (1) การคัดกรองภาวะติดเชื้อในโรงพยาบาลส่งเสริมระดับตำบลโดยใช้ qSOFA (2) การคัดกรองในโรงพยาบาล (Triage) เข้าสู่ Sepsis fast track (3) แผนการรักษาในระยะเร่งด่วน (4) การพยาบาลภาวะช็อก (Septic shock) (5) ติดตามอาการและอาการแสดงของการติดเชื้อที่รุนแรง (6) บันทึกเวลาวินิจฉัยและบันทึกเวลาแพทย์ตรวจ และ (7) การวางแผนการจำหน่าย 2) ผลของพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด โรงพยาบาลปลาปาก จังหวัดนครพนม พบว่า (1) ค่าเฉลี่ยความพึงพอใจของทีมสุขภาพ พบว่าหลังการพัฒนาระบบมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจเพิ่มขึ้นกว่าก่อนการพัฒนาระบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 (=22.45, S.D.= 3.12; =33.65, S.D.= 1.98) และ ความพึงพอใจของผู้ป่วย พบว่าหลังการพัฒนาระบบมีค่าเฉลี่ยความพึงพอใจเพิ่มขึ้นกว่าก่อนการพัฒนาระบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ( =21.86, SD=3.27; =33.70, SD=2.13) (2) ร้อยละความเป็นไปได้ของการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด โรงพยาบาลปลาปาก จังหวัดนครพนม ของทีมสุขภาพโดยภาพรวม พบว่าหลังพัฒนาระบบมีความเห็นด้วย กับความเป็นไปได้ของการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด โรงพยาบาลปลาปาก จังหวัดนครพนม ร้อยละ 100 และเมื่อจำแนกรายข้อพบว่า มีความเห็นด้วยกับความเป็นไปได้ของการใช้รูปแบบการดูแล ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด โรงพยาบาลปลาปาก จังหวัดนครพนมทุกข้อ ร้อยละ 100