รูปแบบการบูรณาการดูแลและเสริมสร้างสุขภาพจิตโดยเครือข่ายชุมชน อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี

ผู้แต่ง

  • อังคณา วังทอง
  • อนุชิต วังทอง
  • กิตติพัฒน์ ทุติยาสานติ์

คำสำคัญ:

รูปแบบการบูรณาการ, การดูแลและเสริมสร้างสุขภาพจิต, เครือข่ายชุมชน

บทคัดย่อ

เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) เพื่อศึกษารูปแบบการบูรณาการการดูแลและเสริมสร้างสุขภาพจิตโดยเครือข่ายชุมชน อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมแบบเอไอซี (A-I-C) กลุ่มตัวอย่างจำนวน 200 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1)
เครือข่ายสุขภาพจิตภาครัฐและภาคประชาชน จำนวน 29 คน และ 2) ประชาชนในชุมชน จำนวน 171 คน ประกอบด้วย เด็กและเยาวชนในโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 50 คน, ผู้พิการและผู้ดูแล จำนวน 35 คน, ผู้ป่วยจิตเวชและผู้ดูแล จำนวน 31 คน, ผู้สูงอายุที่มีภาวะป่วยด้วยโรคเรื้อรัง จำนวน 40 คน และครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ 3 จังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 15 ครอบครัว คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบแบบเจาะจงและสมัครใจเข้าร่วมวิจัย ด้วยวิธีการกระบวนการการมีส่วนร่วมแบบเอไอซี (A-I-C) ประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นตอนการสร้างความรู้ (Appreciation: A) 2) ขั้นตอนการสร้างรูปแบบแนวทางการพัฒนา (Influence: I) และ 3) ขั้นตอนการสร้างรูปแบบแนวทางปฏิบัติ (Control: C) เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้น โดยวัดความรู้การดูแลและเสริมสร้างสุขภาพจิต (ก่อน-หลัง), ระดับการมีส่วนร่วมของชุมชน และระดับความพึงพอใจในการพัฒนารูปแบบการบูรณาการการดูแลและเสริมสร้างสุขภาพจิต ใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ จำนวนและร้อยละผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการบูรณาการการดูแลและเสริมสร้างสุขภาพจิตโดยเครือข่ายชุมชนอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ภายหลังได้รับความรู้กลุ่มตัวอย่าง (เฉลี่ยร้อยละ 28.41) มีความรู้การดูแล เสริมสร้างสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดำเนินงานการดูแลและเสริมสร้างสุขภาพจิตอยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 96.99) และมีความพึงพอใจในการมีส่วนร่วมดูแลและเสริมสร้างสุขภาพจิต อยู่ในระดับมาก (ร้อยละ 95.41) โดยสรุป รูปแบบการบูรณาการการดูแลและเสริมสร้างสุขภาพจิตโดยเครือข่ายชุมชน อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีผลทำให้ระบบการพัฒนามีการเปลี่ยนแปลงขึ้น เกิดเครือข่ายการดูแลและเสริมสร้าง
สุขภาพจิตของชุมชน เกิดสื่อความรู้ฉบับชาวบ้าน (นวัตกรรม) ที่สอดคล้องกับพื้นที่ จึงเห็นควรนำรูปแบบที่ได้จากการวิจัยนี้ไปประยุกต์ใช้ในชุมชนและกลุ่มตัวอย่างอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-04