การพัฒนาแนวปฏิบัติชุมชนการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกโดยการมีส่วนร่วม ของ “คุ้มครัวเรือน” และเทคนิค “ การประเมินความชุกลูกน้ำยุงลายแบบไขว้หมู่บ้าน” บริบทพื้นที่ ตำบลเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์

ผู้แต่ง

  • ชวน อะโนศรี

คำสำคัญ:

แนวปฏิบัติชุมชนการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก

บทคัดย่อ

การศึกษาในครั้งนี้ เป็นการวิจัยเพื่อพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางปฏิบัติของชุมชนในการการป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยการมีส่วนร่วมของ “ คุ้มครัวเรือน” และเทคนิค “ การประเมินความชุกลูกน้ำยุงลายแบบไขว้หมู่บ้าน ” รวมทั้งประเมินผลการใช้แนวทางปฏิบัติที่ได้พัฒนาขึ้นดังกล่าว
คัดเลือกพื้นที่ศึกษาแบบเจาะจงตามบริบทการปฏิบัติงานของผู้วิจัย กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา ได้แก่ ประธานคุ้มครัวเรือนหรือตัวแทน จำนวน 70 คุ้มครัวเรือนๆละ 1 คน รวม 70 คน เก็บรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยใช้แบบสอบถาม แบบทดสอบความรู้ แบบสัมภาษณ์ประเมินการมีส่วนร่วม แบบประเมินความพึงพอใจ และข้อมูลจากการประชุมกลุ่มย่อย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ และสถิติทดสอบ T – test ข้อมูลเชิงคุณภาพวิเคราะห์โดย content analysis ดำเนินการวิจัยระหว่างเดือนมีนาคม – ธันวาคม 2561 ผลการวิจัย พบว่า แนวปฏิบัติชุมชนการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยใช้การมีส่วนร่วมของ “ คุ้มครัวเรือน” และเทคนิค “ การประเมินความชุกลูกน้ำยุงลายแบบไขว้หมู่บ้าน”ที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่ประกอบด้วย ข้อตกลงและขั้นตอนการดำเนินงาน ที่ครอบคลุมทั้งด้านการกำหนดหมายที่ชัดเจนร่วมกัน การร่วมประสานให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อการดำเนินงาน การให้แต่ละคุ้มครัวเรือน จัดตั้งคณะทำงานเพื่อการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ให้ชัดเจน การส่งเสริม / ประสาน ให้มีการประชุม หารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับ“ คุ้มครัวเรือน ” การให้แต่ละคุ้มครัวเรือนกำหนดแผนแนวทาง / วิธีการดำเนินงานร่วมกันภายในคุ้ม การให้แต่ละคุ้มครัวเรือนแต่งตั้ง อสม. เป็นที่ปรึกษาคุ้มครัวเรือน อย่างน้อย 2 คน/คุ้ม การดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ รวมทั้งการร่วมประเมินผลการดำเนินงานตามห้วงเวลา ในส่วนการประเมินความรู้ เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกของประธานคุ้มครัวเรือน เปรียบเทียบก่อน – หลังเข้าร่วมโครงการ พบว่า ประธานคุ้มครัวเรือนมีระดับคะแนนความรู้หลังการเข้าร่วมโครงการสูงกว่าก่อนเข้าร่วมโครงการ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และระดับความพึงพอใจของตัวแทนสมาชิกในคุ้มครัวเรือนที่มีต่อแนวปฏิบัติการป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออกแนวใหม่ที่ได้พัฒนาขึ้น พบว่าตัวแทนสมาชิกในคุ้มครัวเรือน มีระดับความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด ร้อยละ 89.64 และระดับปานกลาง ร้อยละ 9.23 การประเมินความชุกของลูกน้ำยุงลายก่อนเข้าร่วมโครงการ มีค่าสูงกว่าภายหลังจากเข้าร่วมโครงการ และจากการประเมินความชุกจำนวน 5 ครั้ง พบว่า อัตรา
ความชุกลุกน้ำยุงลายมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้จำนวนและอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ตำบลเหนือ ก่อนเข้าร่วมโครงการ ที่มีจำนวนและอัตราป่วย ที่ค่อนข้างสูงต่อเนื่องทุกปี พบว่าภายหลังจากที่ได้เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวนและอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกดังกล่าว มีแนวโน้มลดลงค่อนข้างชัดเจน

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-04