ผลของโปรแกรมการติดตามเยี่ยมทางโทรศัพท์ร่วมกับการวัดความดันโลหิตที่บ้านโดย อสม. ต่อพฤติกรรมสุขภาพและระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ตำบลวานรนิวาส อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
คำสำคัญ:
การติดตามเยี่ยมทางโทรศัพท์, โรคความดันโลหิตสูง, อสม.บทคัดย่อ
การศึกษากึ่งทดลองนี้ (Quasi-Experimental Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการติดตามเยี่ยมทางโทรศัพท์ร่วมกับการวัดความดันโลหิตที่บ้านโดย อสม. ต่อพฤติกรรมสุขภาพและระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง กลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือ 1) อสม. ที่รับผิดชอบการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในหมู่บ้าน จำนวน 17 คน และ 2) ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 45 คน ดำเนินการระหว่างเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2565 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปของ อสม. แบบประเมินทักษะ อสม. ในการวัดความดันโลหิตที่บ้าน แบบสอบถามข้อมูลทั่วไปและภาวะสุขภาพผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และแบบสอบถามพฤติกรรมสุขภาพผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ส่วนเครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือโปรแกรมการติดตามเยี่ยมทางโทรศัพท์ร่วมกับการวัดความดันโลหิตที่บ้านโดย อสม. วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์เปรียบเทียบค่าคะแนนเฉลี่ยทักษะ อสม. พฤติกรรมสุขภาพผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และภาวะสุขภาพของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงก่อนและหลังทดลองใช้สถิติ Paired t-test ผลการศึกษาเป็นดังนี้
ด้าน อสม. พบว่าค่าคะแนนเฉลี่ยทักษะการวัดความดันโลหิตที่บ้านของ อสม. หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (x ̅=41.35, S.D.=1.04 vs x ̅=38.41, S.D.=2.71, p-value<0.001) ส่วนด้านผู้ป่วยพบว่าก่อนการทดลองพบว่าผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงส่วนใหญ่มีพฤติกรรมอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 82.3 รองลงมาคือ ระดับควรปรับปรุง ร้อยละ 13.3 และระดับดี ร้อยละ 4.4 ตามลำดับ หลังการทดลองพบว่าส่วนใหญ่มีพฤติกรรมอยู่ในระดับดี ร้อยละ 64.5 รองลงมาคือ ระดับปานกลาง ร้อยละ 33.3 และระดับควรปรับปรุง ร้อยละ 2.2 ตามลำดับ และการเปรียบเทียบพฤติกรรมสุขภาพพบว่าคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมสุขภาพโดยรวมหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (x ̅=3.62, S.D.=0.38 vs x ̅=3.92, S.D.=0.32, p-value<0.001) ส่วนผลการเปรียบเทียบภาวะสุขภาพพบว่าค่าเฉลี่ย Systolic blood pressure หลังทดลองต่ำกว่าก่อนการทดลอง (x ̅=128.76, S.D.=11.47 vs x ̅=124.89, S.D.=8.05, p-value=0.043) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
การศึกษานี้ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการติดตามเยี่ยมทางโทรศัพท์ร่วมกับการวัดความดันโลหิตที่บ้านโดย อสม. สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานคลินิกโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพื่อลดความแออัดของผู้ป่วย ลดระยะเวลาในการรอคอย และเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการ แต่ยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานการบริการผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้