ผลการประเมินการดำเนินงานอำเภออนามัยการเจริญพันธุ์และสถานบริการที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน ปีงบประมาณ 2557 – 2559

ผู้แต่ง

  • อธิวัฒน์ บุตรดาบุตร นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น

คำสำคัญ:

อำเภออนามัยการเจริญพันธุ์, สถานบริการที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน, การเยี่ยมเสริมพลัง, การประเมินผลการดำเนินงาน

บทคัดย่อ

     การดำเนินงานอำเภออนามัยการเจริญพันธุ์ และสถานบริการที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน ปีงบประมาณ 2557- 2559 ของเครือข่ายงานอนามัยวัยรุ่นได้มีการดำเนินงาน และการใช้เทคนิคการเยี่ยมเสริมพลังโดยใช้กระบวนการเยี่ยมประเมินเสริมพลัง 5 ช. และการสอนการแก้ปัญหาแบบ Ideal ให้เครือข่ายระดับอำเภอ ในเขตสุขภาพที่ 7 และ 8 จำนวนทั้งสิ้น 134 อำเภอ ในเขตรับผิดชอบของศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น เป็นการศึกษาในเชิงคุณภาพ เน้นการพรรณนา นำเสนอด้วยจำนวน และร้อยละ ใช้กระบวนการสัมภาษณ์รายบุคคล รายกลุ่ม การสังเกต และการสอนสรุปการแก้ปัญหา

     ผลการประเมินพบว่า อำเภออนามัยการเจริญพันธุ์แบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อการดูแลช่วยเหลือวัยรุ่น ผ่านการรับรองมาตรฐานการดำเนินงานอำเภออนามัยการเจริญพันธุ์ครบ 5 องค์ประกอบโดยในภาพรวม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 ถึง 2559 โดยแบ่งเป็น 1) เขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 77 อำเภอ ผ่านการรับรองจำนวน 75 อำเภอ คิดเป็นร้อยละ 97.4 ของอำเภอทั้งหมดในเขตสุขภาพนี้ และคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน (Youth Friendly Health Service :YFHS) ในเขตสุขภาพที่ 7 จำนวน 75 โรงพยาบาล คิดเป็นร้อยละ 97.4 ของคลินิกวัยรุ่นและเครือข่าย CUP ของโรงพยาบาลทั้งหมดเช่นกัน ส่วนในเขตสุขภาพที่ 8 จำนวนอำเภอที่ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่นรับผิดชอบทั้งสิ้น 57 อำเภอ ผ่านการประเมินรับรองมาตรฐานอำเภออนามัยการเจริญพัน จำนวน 46 อำเภอ คิดเป็นร้อยละ 80.7 ของอาเภอทั้งหมดในเขตสุขภาพที่ 8 และการรับรองคลินิกวัยรุ่นในโรงพยาบาล จำนวน 57 โรงพยาบาล คิดเป็นร้อยละ 80.7 ของคลินิกวัยรุ่นและเครือข่าย CUP ของโรงพยาบาลทั้งหมดเช่นเดียวกัน ข้อเสนอแนะการศึกษาครั้งนี้เป็นเชิงคุณภาพได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์กลุ่มบุคคลเครือข่ายการดำเนินงานระดับอำเภอและระดับตำบล ผู้วิจัยใช้ทักษะการสังเกตและการใช้เครื่องมือแบบประเมินรับรองมาตรฐานที่กรมอนามัยได้จัดทำเป็นคู่มือให้ผู้ประเมินใช้ในการเยี่ยมสำรวจและรับรองผลการดำเนินงานอำเภออนามัยการเจริญพันธุ์และสถานบริการที่เป็นมิตรสำหรับวัยรุ่นและเยาวชน (Youth Friendly Health Services: YFHS) รูปแบบกระบวนการอาจไม่แตกต่างกัน แต่ผู้ศึกษาเห็นว่าเทคนิคการโน้มน้าว การบรรยายควรกระชับ “จับประเด็นให้ได้ ใส่ใจในการพูด สูตรไม่ต้องเยอะ” เป็นส่วนสำคัญในการนำเสนอ แต่ความสำเร็จอาจไม่สามารถใช้ได้ในทุกเขตสุขภาพ ขึ้นกับข้อจำกัดของบริบทชุมชน
สังคม และวัฒนธรรม รูปแบบความร่วมมือของท้องถิ่น และการมีทัศนคติการมองการแก้ไขปัญหาของวัยรุ่นว่าจะเป็นผลที่กระทบต่อครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติเพียงใด

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2022-12-23