ประสิทธิผลของนวัตกรรมเก้าอี้ยกและเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุสำหรับลดความเสี่ยง ทางการยศาสตร์จากท่าทางการทำงานของผู้ดูแลในตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
คำสำคัญ:
การออกแบบเก้าอี้, ผู้สูงอายุ, ประเมินความเสี่ยง, การยศาสตร์บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของนวัตกรรมเก้าอี้ยกและเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุเพื่อลดปัญหาความเสี่ยงทางการยศาสตร์จากท่าทางการปฏิบัติงานของผู้ดูแล โดยเป็นการวิจัยเชิงทดลอง และศึกษาจากผู้ที่มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุที่ต้องใช้เก้าอี้รถเข็นในตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวน 32 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป และแบบประเมินความเสี่ยงทางการยศาสตร์ด้านท่าทางการปฏิบัติงานของผู้ดูแลผู้สูงอายุ โดยใช้วิธีการประเมินทั่วทั้งร่างกาย (Rapid Entire Body Assessment, REBA) ตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน 3 ท่าน และมีค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) เท่ากับ 0.84 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ แจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการศึกษา พบว่า ก่อนการออกแบบนวัตกรรมผู้ดูแลมีคะแนนความเสี่ยงรวมในวิธี REBA จากการปฏิบัติงานยกและเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุจากเตียงนอนและเข้าห้องน้ำอยู่ในช่วง ≥11 คะแนน ซึ่งหมายถึง การทำงานที่มีความเสี่ยงสูงมากและควรปรับปรุงท่าทางการทำงานในทันที หลังการศึกษาและออกแบบเก้าอี้ยกและเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุเพื่อลดปัญหาความเสี่ยงทางการยศาสตร์จากท่าทางการทำงานของผู้ดูแล โดยออกแบบเก้าอี้ให้ปรับขึ้นลงได้ด้วยระบบไฮโดรลิกไฟฟ้าซึ่งสามารถยกและเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุจากเตียงนอนและเข้าห้องน้ำได้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งาน และปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลให้ช่วยผ่อนแรงและลดภาระในการพยุงตัวผู้สูงอายุของผู้ดูแล โดยหลังการทดลอง พบว่า ผู้ดูแลมีคะแนนความเสี่ยงรวมขณะปฏิบัติงานลดลงอยู่ในช่วง 4-7 คะแนน ซึ่งหมายถึง ความเสี่ยงปานกลางควรวิเคราะห์เพิ่มเติมและควรได้รับการปรับปรุง โดยผู้ดูแลมีความพึงพอใจต่อการใช้เก้าอี้ยกและเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุในภาพรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (=4.5, S.D.=0.5) นวัตกรรมเก้าอี้ยกและเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุสามารถลดความเสี่ยงทางการยศาสตร์ที่นำไปสู่เกิดความผิดปกติทางกระดูกและกล้ามเนื้อของผู้ดูแลจากการปฏิบัติงานได้
References
กิตติ จรินทร์ทอง, บุญศักดิ์ สมบุญรอด, สุริยา สงค์อินทร์, และวิชัย พรมาลัยรุ่งเรือง. (2560). ออกแบบเก้าอี้ช่วยส่งเสริมสมรรถนะสำหรับผู้สูงอายุ. การประชุมหาดใหญ่วิชาการระดับชาติและนานาชาติครั้งที่ 8 (น. 705- 712). มหาวิทยาลัยหาดใหญ่.
ทศพล บุตรมี. (2558). ปัจจัยเสี่ยงด้านการยศาสตร์ส่งผลต่อความผิดปกติทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อจากการทำงานในอาชีพพยาบาลและการป้องกัน. วารสารวิจัยสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 8(4), 1-5.
นคร ดวงแก้ว, นัทธพงศ์ ฉุนตู, และพงศกร สุรินทร์. (2559). การออกแบบและสร้างเก้าอี้การยศาสตร์สําหรับห้องเรียนบรรยาย. วิศวกรรมสารเกษมบัณฑิต, 6(2), 72-86.
นงค์นุช กลิ่นพิกุล. (2556). เก้าอี้การยศาสตร์. วารสารวิชาการ AJNU ศิลปะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยนเรศวร, 3(2), 156-165.
นิธิภัทร ชิตานนท์. (2563). คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในเขตเทศบาลตำบลเสม็ดอำเภอเมืองจังหวัดชลบุรี. (32498005785413) [ปริญญานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต]. มหาวิทยาลัยบูรพา.
ปลื้มใจ ไพจิตร. (2558). คุณภาพในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุในจังหวัดสุราษฎร์ธานี. วารสารวิทยาการจัดการ, 2(2), 157-179.
มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. (2564). สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลและมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.).
ยุพาวดี ขันทบัลลัง, อนัญญา ถาวรรัตน์, อมลธีรา คชเวช, อิศรา จุนเด็น, อภิชัย พรรณรังสี, โสภิตา เมฆจันทร์, และคณะ. (2565). การพัฒนาและประสิทธิผลของนวัตกรรมอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ. วารสารสุขภาพและการศึกษาพยาบาล, 28(1), 1-15.
วัชรากรณ์ ชีวโศภิษฐ. (2562). สังคมผู้สูงอายุ: ปัจจัยการตลาดที่เปลี่ยนไป. วารสารมหาจุฬานาคร ทรรศน์, 6(1), 38-54.
สุคนธ์ อาจฤทธิ์, สุภลักษณ์ ศรีน้อย, ณภัทร อินทนนท์, และมานิตย์ ธิมาทา. (2560). อุปกรณ์ช่วยยืนสําหรับผู้สูงอายุ. SAU Journal of Science & Technology, 3(2), 10-17.
Hignett, S., & McAtamney, L. (2000). Rapid Entire Body Assessment (REBA). Applied Ergonomics, 31(2), 201–205.