การระบาดของโรคอาหารเป็นพิษ ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ตำบลแก่งศรีภูมิ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย ระหว่างวันที่ 23 – 24 พฤษภาคม 2565 : การศึกษาย้อนหลังแบบจับคู่

ผู้แต่ง

  • ลักคณา วรจักร
  • กฤษณะ สุกาวงค์ -
  • สุภาวรรณ วันประเสริฐ
  • ลลดา นาคเสน
  • นิเทศน์ บุตรเต
  • อนุสรณ์ ทรัพย์พลอย

คำสำคัญ:

การระบาด, โรคอาหารเป็นพิษ, โรงเรียน

บทคัดย่อ

รายงานการสอบสวนการระบาดของโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ตำบลแก่งศรีภูมิ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย มีวัตถุประสงค์เพื่อยืนยันการวินิจฉัยและการระบาดของโรค ศึกษาลักษณะทางระบาดวิทยาของโรคตาม บุคคล เวลา สถานที่ เพื่อค้นหาสาเหตุ แหล่งโรค ปัจจัยเสี่ยง และหามาตรการในการป้องกันควบคุมโรคที่เหมาะสม วิธีดำเนินการ รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่มารับการรักษาในโรงพยาบาลภูหลวง และค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในโรงเรียน หาปัจจัยเสี่ยง และสำรวจสภาพแวดล้อม ขั้นตอนการประกอบอาหาร และเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ จากการสอบสวนโรคพบผู้ป่วย 84 ราย อัตราป่วย ร้อยละ 29.3 เป็นผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล 59 ราย (ร้อยละ 70.2) และผู้ป่วยที่ค้นหาในชุมชน 25 ราย (ร้อยละ 29.8) รักษาในโรงพยาบาล 12 ราย (ร้อยละ 14.3 ของผู้ป่วยทั้งหมด) ไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิต ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน 81 ราย (ร้อยละ 96.4) รองลงมา คือ ครู 2 ราย (ร้อยละ 2.4) ค่ามัธยฐานอายุ 11 ปี (ต่ำสุด 2 ปี, สูงสุด 45 ปี)  ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน (ร้อยละ 85.7) ปวดท้อง (ร้อยละ 69.0) ถ่ายเป็นน้ำ (ร้อยละ 51.2) และถ่ายเหลว 3 ครั้งขึ้นไป (ร้อยละ 32.1) การระบาดแบบแหล่งโรคร่วมครั้งนี้มีระยะฟักตัวสั้นสุด 4 ชั่วโมง ระยะฟักตัวเฉลี่ย 5.34 ชั่วโมง (SD. ±1.36) โดยพบผู้ป่วยรายแรกในวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 เวลา 16.00 น. พบผู้ป่วยมากที่สุดในวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 เวลา 17.00 – 17.59 น. พบอัตราป่วยสูงสุด ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (ร้อยละ 82.6) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
(ร้อยละ 47.6) และชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ร้อยละ 44.0) พบอัตราป่วยต่ำสุด ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ร้อยละ 5.9) อัตราป่วยในกลุ่มครูและบุคลากรเท่ากับ ร้อยละ 11.1 จากการศึกษาระบาดวิทยาเชิงวิเคราะห์โดยการศึกษาย้อนหลังแบบจับคู่ (Matched case-control) โดยการควบคุมตัวแปรและปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ด้วย Multiple conditional logistic regression พบว่า ไก่ต้มฉีก (จากเมนูข้าวมันไก่) มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับการป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษ โดยมีค่า Adjusted Odds Ratio เท่ากับ 87.05 (95% CI; 11.58 – 654.64) ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่พบเชื้อก่อโรคในคน ตัวอย่างอาหารและน้ำ ตัวอย่างมีดและเขียงที่ใช้ประกอบอาหาร การศึกษาสภาพแวดล้อมและขั้นตอนการประกอบอาหารข้าวมันไก่พบว่า เป็นการประกอบอาหารร่วมกันระหว่างแม่ครัวกับผู้ช่วย (สามี) โดยนั่งประกอบอาหารบนพื้นภายในบ้านตนเอง ขั้นตอนที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียก่อโรค คือ การฉีกไก่ต้มโดยผู้ช่วย และการนำไก่ต้มฉีกมาวางในภาชนะ ผลการสอบสวนโรคในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการประกอบอาหารให้ถูกสุขลักษณะทุกขั้นตอน

References

กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. นิยามโรคและแนวทางการรายงานโรคติดต่ออันตรายและโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: แคนนา กราฟฟิค; 2563.

ศูนย์กฎหมาย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; 2560.

กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. สรุปสถานการณ์โรคปีปัจจุบัน [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 18 กรกฎาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก http://doe.moph.go.th/surdata/disease.php?ds=03

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จังหวัดอุดรธานี. โปรแกรม ZR506 Dashboard รู้ทัน ป้องกันได้ เขตสุขภาพที่ 8 [อินเตอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 20 ตุลาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก https://dvis3. ddc.moph.go.th/t/DDC_ODPC/views/ZR506

สุพร กาวินำ, พงษ์พจน์ เปี้ยวน้ำล้อม, ธานี วงษ์ชัย. การระบาดโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียนตำรวจตระเวรชายแดนแห่งหนึ่ง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พฤษภาคม 2557. วารสารวิชาการสาธารณสุข; 2558; 24(2) : 211– 9.

พิมพ์พรรณ ปนโพธิ์, พัชร์พิบูล เสมาทอง. การสอบสวนโรคอาหารเป็นพิษในโรงเรียนแห่งหนึ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก วันที่ 9-11 พฤษภาคม 2560 [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 25 ตุลาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก https://wesr-doe.moph.go.th/wesr_new/file/y60/F60501_1636.pdf

โรม บัวทอง, วราลักษณ์ ตังคณะกุล, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร, ภาณุวัฒน์ ปานเกตุ. อาหารเป็นพิษจากแหล่งน้ำในโรงเรียนแห่งหนึ่ง จังหวัดสุโขทัย 29 สิงหาคม - กันยายน 2548 [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 25 ตุลาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก : https://wesr-doe.moph.go.th/wesr_new/file/y50/F50081.pdf

กลุ่มระบาดวิทยาโรคติดต่อ กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค. อาหารเป็นพิษ (Food Poisoning). [อินเทอร์เน็ต]. 2565 [เข้าถึงเมื่อ 24 ตุลาคม 2565]. เข้าถึงได้จาก https://www.ddc.moph. go.th/disease_detail.php?d=10

Downloads

เผยแพร่แล้ว

31-01-2023

ฉบับ

บท

รายงานการสอบสวนทางระบาดวิทยาฉบับสมบูรณ์