การประเมินระบบเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ เขตสุขภาพที่ 8 ปีงบประมาณ 2563
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนาภาคตัดขวาง (Cross-sectional descriptive study) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณลักษณะเชิงปริมาณและคุณภาพของระบบเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ ในระดับเขตสุขภาพที่ 8 และให้ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงและพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ ศึกษาโดยการสุ่มตัวอย่างโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 8 จำนวน 6 แห่ง วิธีดำเนินการวิจัย คือ กำหนดคำนิยามของโรคที่จะทำการประเมินระบบเฝ้าระวัง กำหนดแหล่งเก็บรวบรวมข้อมูล กำหนดรหัสโรคและรหัสกลุ่มโรคในการสืบค้นข้อมูล และดำเนินการศึกษาขั้นตอนการรายงานผู้ป่วยเข้าสู่ระบบเฝ้าระวัง ผลการศึกษาจากการสืบค้นข้อมูลโดยการสุ่มตัวอย่างจากรหัส ICD-10 จำนวน 2,269 ราย มีผู้ป่วยที่ตรงนิยามของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 371 ราย พบมีการรายงานผู้ป่วยในรายงาน 506 จำนวน 102 ราย พบมีความไว ร้อยละ 12.39 ค่าพยากรณ์บวก ร้อยละ 30.68 มีความครบถ้วน ร้อยละ 100 ความถูกต้องของการบันทึกข้อมูลในตัวแปรระหว่างเวชระเบียนและรายงาน 506 จำแนกเป็นตัวแปรอายุ มีความถูกต้อง คิดเป็นร้อยละ 96.74 ข้อมูลมีความเป็นตัวแทน และความทันเวลาในการรายงานภายใน 7 วัน จากโรงพยาบาลถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ร้อยละ 7.51 คุณลักษณะเชิงคุณภาพ พบว่าบุคลากรส่วนใหญ่ยอมรับและเห็นว่ามีความสำคัญ มีความยืดหยุ่น มีความง่าย และมีด้านความมั่นคงของระบบเฝ้าระวังแต่ยังมีการใช้ประโยชน์น้อย โดยภาพรวมของระบบเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ควรปรับปรุง ข้อเสนอแนะ ควรให้ความสำคัญสื่อสารความเข้าใจให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทราบถึงแนวทางการดำเนินงาน นิยามการรายงานตามระบบเฝ้าระวังโรค ตลอดจนการใช้ประโยชน์ของระบบเฝ้าระวังให้มากที่สุด
References
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza). [อินเตอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2564]. เข้าถึงได้จาก : https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=13
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza). [อินเตอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2564]. เข้าถึงได้จาก : https://ddc.moph.go.th/disease_detail.php?d=13
สํานักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 Influenza. [อินเตอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2564]. เข้าถึงได้จาก : http://doe.moph.go.th/surdata/506wk/y63/d15_5363.pdf
สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จังหวัดอุดรธานี. รายงานโรคในระบบเฝ้าระวัง 506 ไข้หวัดใหญ่ (Influenza). [อินเตอร์เน็ต]. 2564 [เข้าถึงเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2564]. เข้าถึงได้จาก : https://dvis3.ddc.moph.go.th/t/DDC_ODPC/views/ZR506/ZR506%3Adisplay_count=n&%3Aembed=y&%3AisGuestRedirectFromVizportal=y&%3Aorigin=viz_share_link&%3AshowAppBanner=false&%3AshowVizHome=n
นภัทร วัชราภรณ์, เตือนใจ นุชเทียน, วนิดา ดิษวิเศษ, ภัทรภา แก้วประสิทธิ์, โสภณ เอี่ยมศิริถาวร. การศึกษาระบบเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการรับมือโรคติดต่ออุบัติใหม่ทางเดินหายใจในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2559. ใน: วิวัฒน์ โรจนพิทยากร, บรรณาธิการ. วารสารวิชาการ สาธารณสุข ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 (ม.ค. – ก.พ. 2560). นนทบุรี: สำนักวิชาการสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข; 2560. หน้า 63-72.
ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี. รายงานผลทางห้องปฏิบัติการ 1 ตุลาคม 2562 – 30 กันยายน 2563. ตุลาคม 2562 – กันยายน 2563. อุดรธานี: ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี; 2563
สุริยะ คูหะรัตน์, บรรณาธิการ. นิยามโรคโรคติดเชื้อประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์; 2546.
ธนรักษ์ ผลิพัฒน์. แนวทางการประเมินระบบเฝ้าระวังทางสาธารณสุข. พิมพ์ครั้งที่ 3. นนทบุรี; 2551.
อมรรัตน์ ชอบกตัญญู, ชูพงศ์ แสงสว่าง, ธิดาพร เทพรัตน์, สุนิสา แกสมาน, สุไหลย๊ะ หมะและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา. การประเมินระบบเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่จังหวัดนราธิวาส ปี พ.ศ. 2562. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ ปีที่ 52 ฉบับที่ 43 พ.ศ. 2564.