การสอบสวนโรคไข้มาลาเรีย ตำบลด่านช้าง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ระหว่างวันที่ 25 – 26 ตุลาคม 2565
คำสำคัญ:
สอบสวนโรค, โรคไข้มาลาเรีย, หนองบัวลำภูบทคัดย่อ
วันที่ 19 ตุลาคม 2565 เวลา 08.49 น. ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 8.2 จังหวัดเลย ได้รับแจ้งจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดหนองบัวลำภูพบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้มาลาเรีย ชนิด Plasmodium falciparum จำนวน 1 ราย ตรวจพบและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนากลาง ทีมสอบสวนโรคศูนย์ควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ 8.2 จังหวัดเลย ร่วมกับทีมระบาดสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จังหวัดอุดรธานี จึงลงพื้นที่สอบสวนโรค โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแหล่งแพร่เชื้อ ติดตามการรักษา ศึกษาความชุกของยุงพาหะนำโรคไข้มาลาเรียและหามาตรการป้องกันการเกิดโรค ผลการสอบสวนโรค พบว่า ผู้ป่วยเป็นเพศชาย อายุ 28 ปี อาชีพรับจ้างในโรงโม่หินในประเทศสาธารณรัฐซูดานเป็นระยะเวลา 1 ปี ขณะทำงานเคยป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรีย ได้รับการรักษาที่ประเทศสาธารณรัฐซูดานและเดินทางกลับไทย เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2565 เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2565 ด้วยอาการไข้ หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลนากลางวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ตรวจ Thick film พบ Plasmodium Falciparum ring form 59,600/mL, Thin film พบ ring form 58,600/mL ส่งต่อการรักษาที่โรงพยาบาลอุดรธานี ผลการสำรวจสิ่งแวดล้อมเป็นชุมชนค่อนข้างหนาแน่นและไม่พบผู้ที่มีอาการเข้าได้กับโรคไข้มาลาเรีย มีแหล่งน้ำธรรมชาติใกล้หมู่บ้าน 1 แห่ง และมีแหล่งน้ำที่ชาวบ้านขุดไว้ใช้ประโยชน์อีก 2 แห่ง พบยุงพาหะนำโรคในพื้นที่ พบยุงก้นปล่องตัวเต็มวัย 2 ชนิด คือ Anopheles aconitus จำนวน 2 ตัว และ Anopheles campestris จำนวน 7 ตัว และพบลูกน้ำยุงก้นปล่อง Anopheles campestrisจำนวน 10 ตัว สรุปผลการสอบสวนโรคผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียติดเชื้อนอกพื้นที่ (Imported Case) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้มาลาเรียมากกว่า 3 ปี และไม่พบยุงพาหะหลัก สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคือ ติดตามการรักษาของผู้ป่วยจนครบ และเฝ้าระวังผู้ที่มีอาการเข้าได้รับโรคไข้มาลาเรียโดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนิยมเดินทางไปทำงานที่สาธารณรัฐซูดานซึ่งเป็นพื้นที่ระบาดของโรคไข้มาลาเรีย จึงต้องมีการเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงดังกล่าว พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ในการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด
References
กองโรคติดต่อนำโรคแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. โครงการกำจัดโรคไข้มาลาเรียประเทศไทย[อินเตอร์เน็ต] 2565. [เข้าถึงเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2565]. เข้าถึงได้จาก http://malaria.ddc.moph.go.th/malariaR10/index_newversion.php
สำนักโรคติดต่อนำโรคแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางการวินิจฉัยและดูแลรักษาโรคไข้มาลาเรีย. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ชุมชนสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย; 2558
World Health Organization. Estimated malaria cases and deaths in WHO Eastern Mediterranean Region, 2000-2020. World malaria report 2021 [internet]. 2021 [cited 2022 November 28]. Available from: https://www.who.int/teams/global-malaria-programme/reports/world-malaria-report-2021
สุพจน์ รัตนเพียร. การพัฒนารูปแบบบริการเพื่อการจัดการโรคไข้มาลาเรียบริเวณพื้นที่ชายแดน ไทย-กัมพูชา จังหวัดตราด โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน. วารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 ฉบับที่ 17; 2562: 67-74
สุชญา สีหะวงษ์ และคณะ. การประเมินผลมาตรการ 1-3-7 เร่งรัดกำจัดไข้มาลาเรีย เขตสุขภาพที่ 10 อุบลราชธานี ปีงบประมาณ 2563. วารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 ฉบับที่ 20; 2565: 9-21