ประสิทธิผลของการฝึกโยคะอาสนะและการฝึกบอดี้ฟังชันนอล ที่มีต่อสุขสมรรถนะในวัยรุ่นหญิงที่มีน้ำหนักเกิน
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการฝึกโยคะอาสนะและการฝึกบอดี้ฟังชันนอลที่มีต่อสุขสมรรถนะในวัยรุ่นหญิงที่มีน้ำหนักเกิน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายของเกณฑ์เอเชียอยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน (BMI อยู่ระหว่าง 23.00-24.99 กก/ม2) อายุ 18-22 ปี จำนวน 48 คน ทำการแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม ด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย ได้แก่ กลุ่มทดลอง ฝึกโยคะอาสนะ จำนวน 25 คน และกลุ่มควบคุมฝึกบอดี้ฟังชันนอล จำนวน 23 คน ทั้งสองกลุ่มฝึกการออกกำลังกายเป็นระยะเวลา 50 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 16 สัปดาห์ ตัวแปรที่ศึกษาครั้งนี้คือระดับสุขสมรรถนะ ได้แก่ สรีรวิทยาทั่วไป องค์ประกอบของร่างกาย ความอดทนของระบบหัวใจไหลเวียนโลหิต ความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ และความอ่อนตัว โดยใช้สถิติวิเคราะห์ผลทางสถิติโดยเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังการทดลองด้วยการทดสอบค่าทีแบบรายคู่ (Paired-t test) และวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยการทดสอบค่าทีแบบอิสระ (Independent-t test) ที่ระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 ผลการวิจัยพบว่าภายหลัง 16 สัปดาห์ ทั้งสองกลุ่มมีค่าสุขสมรรถนะในด้านสรีรวิทยาทั่วไป ได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจขณะพัก ความดันโลหิตขณะหัวใจบีบตัว ความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวมีค่าเฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ตัวแปรด้านองค์ประกอบของร่างกาย ได้แก่ มวลของไขมันในร่างกาย และเปอร์เซ็นต์ไขมันในร่างกายมีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 แต่ไม่พบการเปลี่ยนแปลงของค่าน้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย และค่าอัตราการเผาผลาญพลังงานของทั้งสองกลุ่ม นอกจากนี้ยังพบว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าและด้านหลัง กล้ามเนื้อต้นแขนด้านหน้าและด้านหลัง กล้ามเนื้อหลัง และกล้ามเนื้อหน้าอกมีค่าเพิ่มขึ้น ในขณะที่มุมการเคลื่อนไหวของข้อไหล่และข้อสะโพกมีค่าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
สรุปได้ว่ารูปแบบการออกกำลังกายแบบโยคะอาสนะ และการฝึกบอดี้ฟังชันนอลมีผลดีต่อความสามารถในการเคลื่อนไหวของข้อต่อส่วนต่างๆ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของโครงสร้างกล้ามเนื้อ ส่งผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงทางองค์ประกอบของร่างกาย ช่วยพัฒนาระบบหัวใจไหลเวียนเลือดและฝึกการหายใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Article Details
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์การกีฬาและนวัตกรรมสุขภาพ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์การกีฬาและนวัตกรรมสุขภาพ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย ถือเป็นลิขสิทธิ์ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสารวิทยาศาสตร์การกีฬาและนวัตกรรมสุขภาพ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย ก่อนเท่านั้น