การเปรียบเทียบผลฉับพลันของการอบอุ่นร่างกายร่วมกับการยืดเหยียด แบบมีแรงกระชากและการอบอุ่นร่างกายร่วมกับการยืดเหยียดแบบกระตุ้นระบบประสาทภายในกล้ามเนื้อที่มีผลต่อความเร็วในการวิ่งระยะสั้น 50 เมตร

Main Article Content

สหรัฐ ศรีพุทธา
วารุณี กิจรักษา

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบผลฉับพลันของการอบอุ่นร่างกายร่วมกับการยืดเหยียดแบบมีแรงกระชาก และการอบอุ่นร่างกายร่วมกับการยืดเหยียดแบบกระตุ้นระบบประสาทภายในกล้ามเนื้อ ที่มีผลต่อความเร็วในการวิ่งระยะสั้น 50 เมตร กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ปีการศึกษา 2563 ที่มีอายุ 18 - 22 ปี เพศชาย จำนวน 20 คน ที่ไม่ใช่นักกีฬา โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างแบบจับคู่เป็นกลุ่มทดลอง 2 กลุ่ม กลุ่มทดลองที่ 1 จำนวน 10 คน ทดสอบการอบอุ่นร่างกายร่วมกับการยืดเหยียดแบบมีแรงกระชาก และกลุ่มทดลองที่ 2 จำนวน 10 คน ทดสอบการอบอุ่นร่างกายร่วมกับการยืดเหยียดแบบกระตุ้นระบบประสาทภายในกล้ามเนื้อ ระยะเวลาการทดลอง 3 สัปดาห์ ๆ ละ 1 วัน โดยการทดสอบแต่ละครั้ง มีระยะห่างกัน 1 สัปดาห์ เพื่อลดผลต่อเนื่องของการฝึก ซึ่งกลุ่มทดลองแต่ละคนได้รับการอบอุ่นร่างกายร่วมกับการยืดเหยียดคนละ 1 รูปแบบตามกลุ่มที่กำหนดไว้ จากนั้นทำการทดสอบความเร็วในการวิ่งระยะสั้น 50 เมตร โดยบันทึกเวลาของผู้เข้าร่วมการทดลองก่อนการทดลอง สัปดาห์ที่ 1 สัปดาห์ที่ 2 และสัปดาห์ที่ 3 จากนั้นนำผลที่ได้มาวิเคราะห์ความแตกต่างภายในกลุ่ม (Paired-samples t-test) ระหว่างก่อนการทดลองกับหลังการทดลอง (ครั้งที่เวลาดีที่สุด) และวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างกลุ่ม (Independent-samples t-test) โดยใช้เวลาดีที่สุด ผลการศึกษาพบว่า หลังการทดลอง  ทั้งกลุ่มที่มีการอบอุ่นร่างกายร่วมกับการยืดเหยียดแบบมีแรงกระชากและกลุ่มที่มีการอบอุ่นร่างกายร่วมกับการยืดเหยียดแบบกระตุ้นระบบประสาทภายในกล้ามเนื้อ มีระยะเวลาในการวิ่งระยะสั้น 50 เมตรลดลง (ความเร็วเพิ่มขึ้น) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และพบว่าระยะเวลาในการวิ่งระยะสั้น 50 เมตรของกลุ่มที่มีการอบอุ่นร่างกายร่วมกับการยืดเหยียดแบบมีแรงกระชากและกลุ่มที่มีการอบอุ่นร่างกายร่วมกับการยืดเหยียดแบบกระตุ้นระบบประสาทภายในกล้ามเนื้อ ไม่มีความแตกต่างกัน

Article Details

บท
บทความวิจัย