แนวทางการสร้างความสุขของผู้สูงอายุด้วยกิจกรรมนันทนาการ

Main Article Content

ฉัตรชณา เพริดพริ้ง
วัชรินทร์ ถนัดไร่

บทคัดย่อ


     การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการของผู้สูงอายุ สภาพการดำเนินกิจกรรมนันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ ความต้องการกิจกรรมนันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ และเพื่อพัฒนาแนวทางการสร้างความสุขของผู้สูงอายุกับกิจกรรมนันทนาการ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุในตำบลไชยภูมิ อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง จำนวน 30 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือ แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการของผู้สูงอายุ จากนั้นผู้วิจัยได้นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์โดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และแบบสัมภาษณ์แบบเจาะลึกเกี่ยวกับความต้องการการจัดกิจกรรมนันทนาการของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังได้ทำการพัฒนาแนวทางการสร้างความสุขของผู้สูงอายุกับกิจกรรมนันทนาการ โดยใช้เทคนิคเดลฟาย (delphi technique) กับผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 17 คน จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อหาค่ามัธยฐาน และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ ข้อมูลซึ่งสามารถสรุปผลการวิจัยได้ ดังนี้




     1) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการ ประกอบด้วย 4 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านการจูงใจ ปัจจัยด้านการรับรู้ ปัจจัยด้านทัศนคติ และปัจจัยด้านการเรียนรู้




     2) สภาพการจัดกิจกรรมนันทนาการของผู้สูงอายุ พบว่า ภาพรวมผู้สูงอายุมีความคิดเห็นเกี่ยวกับสภาพการจัดกิจกรรมนันทนาการของผู้สูงอายุในภาพรวมอยู่ในระดับดี มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.50 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.60 ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านมีระดับความคิดเห็นว่ามีสภาพการดำเนินการจัดกิจกรรมนันทนาการสำหรับผู้สูงอายุในภาพรวมอยู่ในระดับอยู่ในระดับดี ได้แก่ ด้านบุคลากร ด้านกิจกรรม ด้านการบริหารจัดการ และด้านสถานที่ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวก มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.58, 3.54, 3.50 และ 3.41 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ 0.61, 0.55, 0.52 และ 0.64 ตามลำดับ




     3) ความต้องการจัดกิจกรรมนันทนาการ พบว่า ผู้สูงอายุต้องการให้มีการจัดตั้งเป็นชมรมผู้สูงอายุในแต่ละชุมชน เพื่อรวมตัวกันทำกิจกรรมร่วมกันนอกจากนี้ผู้นำชุมชนจะต้องมีการจัดพื้นที่หรือสถานที่เพื่อเป็นมุมกาแฟของผู้สูงอายุเพื่อเป็นการพบปะสังสรรค์พูดคุยกัน ในการจัดกิจกรรมของชุมชนควรมีการประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นการแจ้งข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้ผู้สูงอายุได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมด้วย ชุมชนควรมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมรายได้อย่างง่ายให้กับผู้สูงอายุ เช่น การทำดอกไม้ประดิษฐ์ การจักสาน ฯลฯ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์และเป็นการสร้างรายได้เสริม ควรมีการมอบสิทธิพิเศษให้สำหรับผู้สูงอายุในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของชุมชน ชุมชนควรเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมของชุมชน ควรมีการจัดเจ้าหน้าที่เพื่อให้ความรู้ ให้คำแนะนำ เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ แก่ผู้สูงอายุ ในช่วงเช้าจะมีผู้สูงอายุมาออกกำลังกาย ในพื้นที่ต่าง ๆ ควรมีการจัดเสียงตามสายเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ  ควรมีการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมโดยให้ผู้สูงอายุได้เข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อเป็นการตอบแทนสังคมได้  ควรส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุในแต่ละชุมชน เป็นต้น



  4) การพัฒนาแนวทางการสร้างความสุขของผู้สูงอายุกับกิจกรรมนันทนาการ พบว่า แนวทางในการสร้างความสุขของผู้สูงอายุกับกิจกรรมนันทนาการจะต้องประกอบไปด้วย 4 แนวทาง ได้แก่ ด้านบุคลากรผู้จัดกิจกรรม ด้านสถานที่ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านลักษณะกิจกรรม และด้านการบริหารจัดการกิจกรรมนันทนาการสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นสอดคล้องกันโดยมีค่ามัธยฐานตั้งแต่ 3.50 ขึ้นไปและมีค่าพิสัยระหว่างควอไทล์ ตั้งแต่1.50 ลงมา ในทุก ๆ ด้าน

Article Details

บท
บทความวิจัย