พฤติกรรมเนือยนิ่งและปัจจัยเสี่ยงต่อกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

Main Article Content

ช่อนภา สิทธิ์ธัง
สโรชา อยู่ยงสินธุ์
จิตติมา ใจสุข
ไชยวัฒน์ นามบุญลือ

บทคัดย่อ

จากสถานการณ์ปัจจุบันการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนนั้นถูกจำกัดภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 ตามการบังคับใช้ประกาศมาตรการการล็อกดาวน์ทำให้บริบทในการทำงาน และการใช้ชีวิตเปลี่ยนแปลงไป มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ติดต่อสื่อสารแม้ว่าจะอยู่ต่างพื้นที่ก็สามารถทำงานร่วมกันได้ เป็นการเพิ่มพฤติกรรมเนือยนิ่ง (sedentary lifestyle) ทำให้ประชาชนมีกิจกรรมทางกายที่ลดน้อยลง ซึ่งเป็นปัจจัยเริ่มต้นที่ส่งผลต่อปัญหาทางด้านสุขภาพในระยะยาว การที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหวต่ำและการบริโภคอาหารเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมทำให้กระบวนการเผาผลาญไขมันและน้ำตาลเป็นพลังงานลดลงน้ำหนักตัวจึงอาจเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดและอาจสูญเสียความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกจากการไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ควร ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในระยะยาวกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลกและของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในคนไทย ซึ่ง 7 โรคที่พบได้มาก คือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง และโรคอ้วนลงพุง ซึ่งการเกิดโรคในกลุ่มนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการติดเชื้อโรค และไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คน โดยการสัมผัสหรือการหายใจ แต่เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม ซึ่งจะค่อย ๆ สะสมอาการ มีการดำเนินของโรคไปอย่างช้า ๆ และทวีความรุนแรง กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนี้เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ที่ไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ และช่วยลดปัจจัยต่อการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้


     องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เล็งเห็นความสำคัญต่อปัญหาดังกล่าว จึงแนะนำให้ผู้ใหญ่อายุระหว่าง 18 - 64 ปี ออกกำลังกายที่ระดับความหนักปานกลางเฉลี่ยสัปดาห์ละ 150 นาที หรืออย่างน้อยวันละ 30 นาที ควบคู่กับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และงดการสูบบุหรี่ เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีในระยะยาว



Article Details

บท
บทความวิชาการ