การพัฒนาการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันและบาดแผลสดจากอุบัติเหตุในผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสำโรงทาบจังหวัดสุรินทร์
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และบาดแผลสดจากอุบัติเหตุในผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ผู้ร่วมวิจัยประกอบด้วย บุคลากรผู้เกี่ยวข้องในการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะ คือ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร และกลุ่มผู้ป่วยนอกที่มารับบริการใน 3 กลุ่มโรค เก็บข้อมูลระหว่างพฤษภาคม - กรกฎาคม 2565 โดยใช้โปรแกรมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ThaiRDU Ver 63.10.01 และ HosXP วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติเชิงพรรณนา และการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มผู้ป่วยนอกที่มารับบริการ 3 กลุ่มโรค 2,439 คน เป็นผู้ป่วยกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน 1,317 คน (ร้อยละ 54.00) ได้รับยาปฏิชีวนะ 156 คน (ร้อยละ 11.86) เป็นผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน 295 คน (ร้อยละ 12.10) ได้รับยาปฏิชีวนะ 56 คน (ร้อยละ18.98) และเป็นผู้ป่วยบาดแผลสดจากอุบัติเหตุ 827 คน (ร้อยละ 33.91) ได้รับยาปฏิชีวนะ 434 คน (ร้อยละ 52.48) ผลการวิจัยบุคลากรผู้เกี่ยวข้องในการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะ พบว่า แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปสั่งใช้ยาปฏิชีวนะใน 3 กลุ่มโรค 568 คน (ร้อยละ 36.02) และพยาบาลสั่งใช้ยาปฏิชีวนะใน 3 กลุ่มโรค 78 คน (ร้อยละ 9.05) ICD10 ที่ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยมากที่สุดในกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และบาดแผลสดจากอุบัติเหตุ คือ J00 จำนวน 602 ครั้ง, A099 จำนวน 150 ครั้ง และ S8080 จำนวน 59 ครั้ง ตามลำดับ และ ICD10 ที่ผู้ป่วยได้รับการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะมากที่สุดในกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และบาดแผลสดจากอุบัติเหตุ คือ J039 จำนวน 15 ครั้ง (ร้อยละ 75), A090 จำนวน 5 ครั้ง (ร้อยละ 38.46) และ S913 จำนวน 45 ครั้ง (ร้อยละ 90) ตามลำดับ ผลการวิจัยค่าร้อยละเฉลี่ยการใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และบาดแผลสดอุบัติเหตุ เท่ากับ ร้อยละ 11.86, 18.98 และ 52.48 ตามลำดับ
สรุปผลการวิจัย การพัฒนาการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และบาดแผลสดจากอุบัติเหตุในผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ ยังไม่ผ่านเกณฑ์ตัวชี้วัดโรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ควรมีการดำเนินการพัฒนาการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลต่อไปอย่างต่อเนื่อง และมีการขยายการศึกษาให้ครอบคลุมหน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่งในเขตอำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์ต่อไป
Article Details
เนื้อหาและข้อมูลในบทความที่ลงตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์การกีฬาและนวัตกรรมสุขภาพ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย ถือเป็นข้อคิดเห็นและความรับผิดชอบของผู้เขียนบทความโดยตรงซึ่งกองบรรณาธิการวารสาร ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย หรือร่วมรับผิดชอบใด ๆ
บทความ ข้อมูล เนื้อหา รูปภาพ ฯลฯ ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์การกีฬาและนวัตกรรมสุขภาพ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย ถือเป็นลิขสิทธิ์ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ หากบุคคลหรือหน่วยงานใดต้องการนำทั้งหมดหรือส่วนหนึ่งส่วนใดไปเผยแพร่ต่อหรือเพื่อกระทำการใด จะต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากวารสารวิทยาศาสตร์การกีฬาและนวัตกรรมสุขภาพ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งประเทศไทย ก่อนเท่านั้น