การพัฒนารูปแบบการดูแลต่อเนื่องหลังภาวะวิกฤตสู่ระยะกลางในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน
คำสำคัญ:
การพัฒนารูปแบบ, การดูแลต่อเนื่องหลังภาวะวิกฤตสู่ระยะกลาง, ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลันบทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) เพื่อพัฒนาและศึกษาผลของรูปแบบการดูแลต่อเนื่องหลังภาวะวิกฤตสู่ระยะกลางในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ดำเนินการวิจัยระหว่างเดือน ตุลาคม 2564 - กันยายน 2565 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเฉียบพลัน จำนวน 32 คน เลือกแบบแบบเจาะจง เครื่องมือที่ใช้ ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน แบบประเมินความพิการ แบบสอบถามความพึงพอใจของบุคลากรสหสาขาวิชาชีพในรูปแบบ ฯ บันทึกการสนทนากลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบที และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการศึกษา พบว่า รูปแบบฯประกอบด้วย 1) ทีมสหสาขาวิชาชีพ 2) แผนการดูแล รูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ประกอบไปด้วย 6 กระบวนการ ได้แก่ 1.การเข้าถึงและเข้ารับบริการ (Access & Entry) 2.การประเมินผู้ป่วย (Patient Assessment) 3.การวางแผนการดูแลผู้ป่วย (Planning of Care) 4.การวางแผนจำหน่าย (Discharge Planning) 5.การให้ข้อมูลและเสริมพลังแก่ผู้ป่วย/ครอบครัว (Information and Empowerment for Patients/Families) 6.การดูแลต่อเนื่อง (Continuity of Care) และ 3) แนวปฏิบัติทางคลินิก การประสานความร่วมมือของทีมสหสาขาที่เกี่ยวข้องสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงในบริบทของโรงพยาบาล ทำให้ผลลัพธ์การดูแลส่วนใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก ค่าเฉลี่ยความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันมากกว่ากลุ่มก่อนพัฒนารูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = .00) ผลการประเมินความพิการ พบว่า วันที่จำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล และหลังจำหน่ายจากโรงพยาบาล 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยหลอดเลือดสมองมีความพิการระดับที่ผิดปกติมากและรุนแรงลดลงน้อยกว่าวันที่รับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล ความพึงพอใจต่อรูปแบบการดูแลพบว่าโดยรวมระดับความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก