จริยธรรมในการตีพิมพ์

วารสารการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของจริยธรรมการตีพิมพ์บทความในวารสาร จึงมีการดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมการตีพิมพ์ ดังนี้

  1. บทความที่จะตีพิมพ์ในวารสาร ต้องไม่เคยลงตีพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือหรือวารสารใดมาก่อน ยกเว้นเป็นบทความที่นำเสนอในการประชุมวิชาการซึ่งไม่มี proceeding paper และผู้เขียนจะต้องไม่ส่งบทความเพื่อไปลงตีพิมพ์ในวารสารอื่นในเวลาเดียวกัน
  2. บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารต้องผ่านการตรวจสอบการพิมพ์ซ้ำหรือซ้ำซ้อน (duplications/ plagiarism) โดยกองบรรณาธิการและ/หรือผู้ทรงคุณวุฒิ หากพบว่าบทความเข้าข่ายการคัดลอกผลงานผู้อื่น (plagiarism) ทางวารสารจะตอบปฏิเสธการรับพิจารณาลงตีพิมพ์
  3. บทความทุกบทความ ต้องผ่านการตรวจและประเมินจากกองบรรณาธิการ และต้องผ่านการตรวจประเมินคุณภาพแบบ Double blinded จากผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย 2 ท่าน
  4. บทความวิจัยหรือนิพนธ์ต้นฉบับที่จะตีพิมพ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยในมนุษย์ ต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์จากสถาบันใดสถาบันหนึ่ง หรือเป็นไปตามข้อกำหนดของจริยธรรมการวิจัย
  5. วารสารจะรับตีพิมพ์บทความที่ไม่มี conflict of interest โดยผู้เขียนบทความต้องระบุไว้ในขั้นตอนของการส่งบทความ และวารสารจะส่งบทความประเมินคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับบทความ
  6. การอ้างอิงบทความในวารสารเป็นไปตามหลักการทางวิชาการ

บทบาทและหน้าที่ของผู้นิพนธ์

  1. ผู้นิพนธ์ต้องยืนยันว่าบทความที่ส่งเข้ามายังวารสารการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน และไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ในวารสารอื่น
  2. ผู้นิพนธ์ต้องไม่ละเมิดหรือคัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน
  3. ผู้นิพนธ์ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของวารสารการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด ทั้งรูปแบบการจัดเอกสาร และหลักเกณฑ์การอ้างอิง ที่กำหนดไว้ใน “คำแนะนำสำหรับผู้นิพนธ์”
  4. ผู้นิพนธ์ทุกคนที่มีชื่อในปรากฏในผลงานต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการผลิตผลงานจริง
  5. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าเนื้อหาในผลงานของตนเองไม่ได้คัดลอกผลงานของตนเองและผู้อื่น หรือมีการนำเนื้อหาที่ได้รับการตีพิมพ์ที่อื่นมาใช้ซ้ำ (recycle) โดยไม่มีการอ้างอิงในรายการอ้างอิงท้ายบทความ หากพบการละเมิดลิขสิทธิ์ ทางวารสารจะดำเนินการถอนบทความออกจากการเผยแพร่ทันที และหากมีการฟ้องร้อง ให้เป็นความรับผิดชอบของผู้นิพนธ์แต่เพียงผู้เดียว
  6. ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานของตนเองได้มาจากข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือนข้อมูล ตกแต่ง หรือตัดเนื้อความหรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
  7. เมื่อผู้นิพนธ์ได้รับผลการประเมินบทความจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว ต้องทำการปรับปรุง แก้ไขตามคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ และส่งกลับมายังกองบรรณาธิการในกรอบเวลาที่กำหนด
  8. กรณีบทความที่ผู้นิพนธ์ส่งเข้ามาเป็นการแปลมาจากบทความภาษาต่างประเทศ ผู้นิพนธ์ต้องรับรองว่าผลงานที่ส่งมานั้นเป็นผลงานใหม่และไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน ยกเว้นบทความแปลจากภาษาต่างประเทศที่ผู้เขียนและสำนักพิมพ์ ยินยอมให้แปลเป็นภาษาไทย
  9. ผู้นิพนธ์ต้องระบุแหล่งทุนสนับสนุนในการผลิตผลงาน หรือผลประโยชน์ส่วนรวมที่อาจมี

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมินบทความ

  1. ผู้ประเมินบทความต้องคำนึงถึงคุณภาพของบทความเป็นหลัก พิจารณาบทความภายใต้หลักการและเหตุผลทางวิชาการ โดยปราศจากอคติหรือความคิดเห็นส่วนตัว และไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้นิพนธ์
  2. ผู้ประเมินบทความต้องไม่แสวงหาประโยชน์จากผลงานทางวิชาการที่ตนเองได้ทำการพิจารณาประเมินและไม่นำข้อมูล บางส่วนหรือทุกส่วนของบทความไปเป็นผลงานของตนเอง
  3. ผู้ประเมินบทความ ควรมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเนื้อหาของผลงานวิชาการที่รับการประเมิน และผู้ประเมินไม่ควรใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่ไม่มีข้อมูลรองรับมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินบทความ
  4. หากผู้ประเมินบทความพบว่า บทความที่ประเมินมีส่วนที่มีความเหมือนหรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบโดยทันที
  5. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาระยะเวลาประเมินตามกรอบเวลาประเมินที่วารสารกำหนด
  6. ผู้ประเมินบทความต้องรักษาความลับ และไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณา แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ

  1. การตัดสินใจของบรรณาธิการต่อการ “ตอบรับ” หรือ “ปฏิเสธ” การตีพิมพ์บทความควรขึ้นอยู่กับเนื้อหา คุณภาพบทความ และความชัดเจนของบทความ ตลอดจนความเกี่ยวข้องกับขอบเขต นโยบายของวารสารฯ เป็นสำคัญ 
  2. การเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินบทความเป็นไปด้วยความโปร่งใส ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อนและตรงตามความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา  
  3. บรรณาธิการต้องใช้เหตุผลทางวิชาการในการพิจารณาบทความ โดยปราศจากอคติที่มีต่อบทความและผู้นิพนธ์ ในด้านเชื้อชาติ เพศ ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง และสังกัดของผู้นิพนธ์
  4. บรรณาธิการต้องไม่มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้นิพนธ์หรือผู้ประเมินบทความ และไม่นำบทความหรือวารสารไปใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจ หรือนำไปเป็นผลงานทางวิชาการของตนเอง
  5. บรรณาธิการต้องไม่แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทความและผลประเมินของผู้ประเมินบทความ รวมถึงไม่ปิดกั้นหรือแทรกแซงข้อมูลที่ใช้แลกเปลี่ยนระหว่างผู้ประเมินบทความและผู้นิพนธ์
  6. บรรณาธิการจะต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้นิพนธ์ และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาของการประเมินบทความ
  7. บรรณาธิการต้องปฏิบัติตามกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ของวารสารการแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด
  8. บรรณาธิการต้องรักษามาตรฐานของวารสาร รวมถึงพัฒนาวารสารให้มีคุณภาพและมีความทันสมัยเสมอ